Thai Chinese (Simplified) English Japanese Korean
Get Adobe Flash player

วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔๙ หมู่ที่ ๒ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ทางฝั่งด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ หรือ แม่น้ำท่าจีน ทุกปีจะมีงานเทศกาลสมโภช และนมัสการหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ 2 ครั้ง คือ ในวันขึ้น 5-9 ค่ำ เดือน 5 และเดือน 12

 ตำนานของวัดป่าเลไลยก์

        ก่อนที่จะเข้าไปภายในบริเวณวัด เพื่อนมัสการหลวงพ่อโตที่วัดนี้นั้น เรามาทราบประวัติความเป็นมาของวัดนี้อย่างคร่าวๆกันเสียก่อน ตามที่ท่าน พระศรีธวัชเมธี (ชนะ เปรียญธรรม ๙ ประโยค) ได้บันทึกไว้ว่า

ด้านหน้าของวิหารหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์ในปัจจุบัน

        วัดนี้จะสร้างขึ้นเมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานโบราณวัตถุสำคัญของวัด คือ พระปางปาลิไลยกะ ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อโต กะประมาณอายุอย่างต่ำสุดสร้างก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (ก่อน พ.ศ. ๑๘๙๓) อย่างสูงสุดยุคทวารวดีตอนต้น (พ.ศ. ๑๒๐๐) มีอายุจนถึงทุกวันนี้ ระหว่าง ๖๕๐ - ๑๓๐๐ ปี

ภาพวัดป่าเลไลยก์และวิหารหลวงพ่อโตสมัยเมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว

        ส่วนองค์พระปาเลไล (หลวงพ่อโต)นั้น ของเดิมไม่มีวิหาร ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งในคฤห ตัวคฤหนั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ ในภายหลังมีผู้ศรัทธาสร้างวิหารต่อออกจากคฤห ยังสังเกตเห็นที่ต่อได้เหมือนกัน จะต่อเมื่อครั้งใดไม่ทราบ สันนิษฐานว่าคงเป็นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

        ต่อมาเมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วิหารได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป พระพุทธรูปเองพระกรที่สร้างแปลงใหม่ก็พังไปเสียอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ ) จึงโปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่ สมุหนายกเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ทั้งพระวิหารและองค์พระ พุทธรูป ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์ในปัจจุบันนี้

ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔ จ. ศ. ๑๒๒๐ ซึ่งตรงกับพุทธศักราช ๒๔๐๑ ทำให้ทราบได้แน่ชัดว่า วิหารพร้อมองค์หลวงพ่อโตได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ดังเนื้อความในจดหมายเหตุที่ว่า

        สารตรา ท่านเจ้าพระยาจักรี มาถึงพระยาสุพรรณ พระปลัด กรมการ ด้วยบอกเข้าไปแล้วว่า ได้เกณฑ์เลขโยมสงฆ์เมืองสุพรรณ ขอแรงขุนหมื่นในกรมการผลัดเปลี่ยนกันทำวัดพระป่าเลไลยเดือนละ ๔ ผลัด เป็นคน ๒๐ คน ได้ปลูกทำร่มพระและก่อปั้นต่อพระกรตั้งแต่พระอังสะจนถึงฝ่าพระหัตถ์ที่ชำรุดแตกพังเสร็จแล้ว ยังแต่พระรัศมี ยังไม่มีไม้ขอนสักจะทำ ได้ลงรักพระปฏิมากร ๒ ครั้ง ยังแต่จะลงรักน้ำเกลี้ยงต่อไป

        ได้ปลูกศาลา ๒ หลัง จ้างจีนขุดสระๆ หนึ่ง ได้รื้อผนังด้านเหนือด้านใต้ แต่ผนังด้านหน้ายังไม่ได้รื้อ ถ้ารื้อเสร็จแล้วไปขอเลข ๑๒๐ คน ผลัดเปลี่ยนกันมาทำวัดนั้น ได้ทำหนังสือบอกขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบใต้ฝ่าละอองแล้ว

        มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าว่า วัดพระป่าเลไลยเป็นวัดเก่าโบราณ พระพุทธปฏิมากรชำรุดแตกหักมาก ได้โปรดให้เจ้าพระยา นิกรบดินทร์ฯ ออกมาดูการสิ่งใดชำรุด ได้บัญชาให้พระยาสุพรรณ กรมการ เร่งจัดทำขึ้นนั้นชอบดีอยู่แล้ว และพระยาสุพรรณ กรมการ บอกขอเลข ขอไม้ยอดพระรัศมี ขอไม้ขอนสัก ไม้เสาใช้สอยเป็นการวัดพระป่าเลไลยนั้น ก็ให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ ดูแลอย่าให้ขัดสน พระยาสุพรรณ กรมการ จะได้เร่งรัดทำต่อไป

        เจ้าพระยานิกรบดินทร์ฯ กราบบังคมทูลพระกรุณา ยอดพระรัศมีก็ได้ให้แต่งตัวใหม่อยู่ทุกวัน เสาไม้ก็ได้ให้ขุนหมื่นคุมเงินไปจัดซื้ออยู่ แล้วจะส่งไม้ออกไปภายหลัง แต่เลขเมืองสุพรรณนั้นให้พระยาสุพรรณ กรมการ เกณฑ์ขอแรงผลัดเปลี่ยนกันมาทำวัดป่าเลไลยก็ตามบอกขอเข้าไปเถิด

        และการรื้อ - ต่อผนัง กับของสิ่งใดที่ควรจะต้องทำก็ให้พระยาสุพรรณ กรมการ เร่งรัดทำไปพลางๆ สุดแต่อย่าให้ของค้าง อย่าให้คนว่างเปล่าได้เป็นอันขาดทีเดียว กับให้จัดเรือและคนรับเงินปูนผงจากพวกด่านเขมร เข้าไปส่ง ณ กรุงเทพฯ จงเนืองๆ ด้วย ได้ลงมือทำสิ่งใดแล้วไปกี่ส่วน ยังกี่ส่วนจะต้องการของสิ่งใดบ้าง ให้พระยาสุพรรณ กรมการ บอกรายการเข้าไปจงเนืองๆ จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท 
สารตรามา ณ วันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย โทศก

ในปัจจุบันมีประชาชนทั้งใกล้ไกลมากราบไหว้พลวงพ่อโตกันมากมายในแต่ละวัน

        แต่เดิมดูเหมือนจะเป็นวัดพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เลย แต่ก็มีพระสงฆ์ไปอยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ที่มาสร้างเป็นวัด สังฆาราม มีพระอุโบสถมั่นคง เป็นของสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๖ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง วัดป่าเลไลยก์นี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒  ต่อมาได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นหลังหนึ่ง โดยความร่วมมือของชาวบ้าน, พระสงฆ์นำโดยพระครูโพธาภิรัต (หลวงพ่อสอน) และผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยข้าราชการ  จึงได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา ที่หน้าบันของพระอุโบสถมีตัวอักษรจารึกเขียนไว้ว่า (สร้างเสร็จ) เมื่อปีฉลู สัตตศก พ.ศ. ๒๔๖๘ รัตนโกสินทรศก ๑๔๔

        ส่วนองค์พระป่าเลไล (หลวงพ่อโต)นั้น ของเดิมไม่มีวิหาร ทำเป็นพระพุทธรูปนั่งในคฤห ตัวคฤหนั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ ในภายหลังมีผู้ศรัทธาสร้างวิหารต่อออกจากคฤห ยังสังเกตเห็นที่ต่อได้เหมือนกัน จะต่อเมื่อครั้งใดไม่ทราบ สันนิษฐานว่าคงเป็นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

        ต่อมาเมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วิหารได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป พระพุทธรูปเองพระกรที่สร้างแปลงใหม่ก็พังไปเสียอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ ) จึงโปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่ สมุหนายกเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ทั้งพระวิหารและองค์พระ พุทธรูป ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้..

 

วัดป่าเลไลยก์ สุพรรณบุรีในปัจจุบันนี้

        การเดินทางไปวัดป่าเลไลยก์นั้นไม่ยากเลย เพราะว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในตัวเมืองสุพรรณบุรี ถ้าท่านเดินทางมาด้วยรถส่วนตัวจะยิ่งสดวก แต่ถ้าท่านมาโดยรถประจำทางก็มาลงในตัวจังหวัดหรือที่สถานีขนส่ง จะมีรถรับจ้างเป็นรถสองแถววิ่งรอบๆตัวเมือง ซึ่งผ่านวัดด้วย ถ้าดูตามแผนที่ข้างล่างนี้จะเห็นได้ว่า วัดป่าเลไลยก์ ไปได้อย่างสะดวกในหลายๆเส้นทาง. 

              

            

บรรยากาศบริเวณหน้าพระวิหารหลวงพ่อโต 

ตามแผนที่นี้ วัดป่าเลไลยก์ และศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อยู่ในถนนสายเดียวกัน และอยู่ไม่ไกลกันมากนัก

 

 

โบสถ์ทางด้านขวาคือโบสถ์หลังเก่าซึ่งอยู่ใกล้ๆกับวิหารของหลวงพ่อโต ขณะนี้ทางวัดกำลังสร้างโบสถ์หลังใหม่ ใหญ่โตกว่าโบสถ์หลังเก่ามาก

 

โบสถ์หลังใหม่ซึ่งกำลังสร้างอย่างใหญ่โตและวิจิตรพิศดาล มองจากด้านข้าง

  เมื่อได้มากราบไหว้หลวงพ่อโตแล้ว ถ้ายังไม่รีบร้อนนักก็อย่าเพิ่งเดินทางกลับ เพราะว่าที่บริเวณวัดข้างในเข้าไปยังมีสถานที่ๆน่าชมอีกหลายอย่าง ยิ่งถ้าท่านที่ชอบของเก่าหรือว่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ก็ยิ่งไม่น่าพลาด

  เดินจากวิหารหลวงพ่อโตไปทางโบสถ์ที่กำลังสร้าง ถัดเข้าไปอีกหน่อยเดียวก็จะเห็นป้ายเขียนบอกไว้ว่าไปทางไหนจะมีอะไรบ้าง อย่างแรกที่ควรเข้าไปขมคือ บ้านขุนช้าง

ป้ายบอกทางไปสถานที่ต่างๆเขียนไว้อย่างชัดเจน

 

นี่คือบ้านของขุนช้าง ซึ่งเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ แบบไทยๆของเราในชื่อเรื่องว่า ขุนช้าง ขุนแผน ซึ่งแทบทุกๆท่านคงเคยได้ยินชื่อนี้กันมาแล้ว

 

ทางขึ้นบ้านขุนช้าง

 

ตู้รับเงินบริจาคบำรุงรักษาบ้านขุนช้างตั้งอยู่บนบ้านขึ้นบรรใดไปก็เห็นแล้ว เชิญบริจาคกันตามกำลังศรัทธา

        บ้านขุนช้างนี้มีลักษณะเป็นเรือนทรงไทยแบบสมัยโบราณ ที่ตัวบ้านด้านหน้ามีชานยื่นออกมาแล้วทำเป็นศาลาหลังเล็กๆอีกหลังหนึ่ง มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาเหมือนตัวบ้าน ตรงนี้เป็นทางขึ้นไปขมบ้านขุนช้าง ในตัวบ้านตรงกลางในปัจจุบันนี้ทำเหมือนหอฉันบนกุฏิพระ มีพระพุทธรูปต่างๆมาวางประดับไว้ (ซึ่งไม่เหมือนเดิมเมื่อ ๒ - ๓ ปีก่อนนั้น)

ด้านข้างบนบ้านทั้งสองแถบนั้นกั้นเป็นห้องเหมือนกับบ้านเรือนไทยโบราณ เมื่อเข้าไปในห้องจะมีตู้กระจกยาวๆ ใส่ของเก่าๆไว้ เช่นถ้วยชามจานช้อนเคลือบ แจกันเคลือบสมัยต่างๆ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ล็กมากมาย ซึ่งเป็นของเก่าแก่ทั้งสิ้น ส่วนผนังด้านบนมีภาพวาด คิดว่าคงไม่ใช่ช่างวาดในสมัยโบราณ เป็นเรื่องราวของขุนช้างขุนแผน หลายสิบภาพ ส่วนห้องอีกแถบหนึ่งนั้นก็เช่นเดียวกัน ที่ผนังด้านบนก็มีภาพวาดเกี่ยวกับเรื่องขุนช้างขุนแผนเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีตู้ใส่ของเก่าให้ชมเหมือนห้องอีกด้านหนึ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว

        

ตู้โชว์ของเก่าต่างๆภาพซ้ายนี้อยู่ด้านนอกห้อง ส่วนภาพขวาเป็นภาพวาดต่างๆเกี่ยวกับเรื่องขุนช้างขุนแผน ติดไว้บนผนังด้านในห้อง

        ลงจากบ้านขุนแผนแล้วก็นั่งพักเหนื่อยเสียหน่อยตรงโคนต้นไม้ใหญ่ด้านล่าง พอหายเมื่อยดีแล้วจะได้ไปดูที่อื่นต่อไป แต่ก่อนจะออกจากบริเวณบ้านขุนช้างไป ตรงใกล้ๆกันนี้แวะที่ศาลของราชาเพลงลูกทุ่งของไทยเราในอดีตกันหน่อย ท่านก็คือ สุรพล สมบัติเจริญ ปัจจุบันเขามาตั้งศาลให้ผู้คนกราบไหว้กันที่นี่

ศาลของสุรพล สมบัติเจริญ ในบริเวณบ้านขุนช้าง

        สถานที่น่าไปชมอีกที่หนึ่งคือมณฑป ของพระวิสุทธิสารเถร (หลวงพ่อเถร) เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร องค์ที่ ๔ ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๔๖ ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๗ เมื่อมีอายุได้ ๘๑ ปี ศพของท่านก็ยังอยู่ในโลงศพ ที่ตั้งอยู่ที่มณฑปนี้

 

มณฑปหลวงพ่อเถร มองจากภายนอก

        นอกจากนี้ยังมีที่เที่ยวชมภายในบริเวณวัดอีกมาก ที่วัดป่าเลไลยก์นี้นอกจากจะเปิดทุกวันให้ประชาชนทั่วไปเข้ามานมัสการหลวงพ่อโตแล้ว ทางวัดยังได้จัดงานเทศกาลสมโภชน์และนมัสการหลวงพ่อโต ปีละ ๒ ครั้ง งานจะมีขึ้นในวันขึ้น ๕ - ๙ ค่ำ เดือน ๕ และเดือน ๑๒ ด้วย.